วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

วัฒนธรรมการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ

การตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ เป็นวัฒนธรรมทางศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวไทยภาคใต้ตอนล่าง ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แหล่งน้ำและทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพประมงเป็นหลัก เรือกอและจึงเป็นพาหนะทางน้ำที่เป็นของคู่กับชาวประมงในแถบนี้  สามารถใช้สอยในการทำประมงและการขนส่งสินค้าและนันทนาการ เรือกอและเป็นเอกลักษณ์ของชาวประมงในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมาช้านานแล้ว เรือกอและมีความแตกต่างจากเรือประเภทอื่นๆ โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในด้านการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือ เรือกอและเปรียบดั่งศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าชิ้นหนึ่ง มีสีสันฉูดฉาดสะดุดตา มีลวดลายประดิษฐ์ที่มีความประณีต ละเอียดอ่อนสวยงามยิ่งนัก

 
ที่มา : ลำเรือแห่งเมืองนราฯ   http://www.marinerthai.com/sara/pics

ลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ  ถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ  เพิ่มความสวยงามและเอกลักษณ์ให้กับเรือกอและ  ดังนั้นช่างเขียนที่จะมาตกแต่งเรือกอและจึงต้องมีความสามารถและมีทักษะในการสร้างสรรค์สูง  หน้าที่ของช่างเขียนจะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อได้มีการระบายสีรองพื้นแล้ว  การวาดลวดลายช่างจะคิดราคาแบบเหมาจ่ายเป็นลำ ๆ  ไป  ตามขนาดความยาวของลำเรือ  และประเภทของภาพและลวดลายที่กำหนดให้วาด  ในกรณีที่ช่างวาดลวดลายจะต้องคิดค้นลวดลายอื่น ๆ  ที่นอกเหนือจากลวดลายที่เคยวาด  และมีความคิดสร้างสรรค์ไว้แล้ว  ราคาในการวาดลวดลายจะสูงขึ้นกว่าลวดลายที่วาดอยู่ตามปกติทั่วไป  เพราะว่าจะต้องใช้เวลาในการคิดค้นลวดลายเพิ่มเติม  ที่นำมาบรรจงวาดเพิ่มความสวยงามให้กับเรือตามประสงค์ของผู้ว่าจ้าง  อัตราการว่าจ้างจะอยู่ระหว่าง  ลำละ  2,000 – 4,000  บาท  ซึ่งการว่าจ้างนี้  ไม่เกี่ยวข้องกับช่างทาสีเรือ  ส่วนใหญ่แล้วลวดลายที่ช่างวาด  จะวาดตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง  โดยบอกลักษณะของลวดลาย  แบบย่อ ๆ  เช่น  ลายไทย  ลายอิสลาม  ลายผสมไทย-อิสลาม  หรืออินโดนีเซีย  รูปหัวนก  ลายดอกไม้  เป็นต้น  ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย  ช่างวาดลวดลายจะเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเอง  การวาดลวดลายจะใช้ช่างเพียงคนเดียวเขียนลวดลาย  ตั้งแต่หัวเรือถึงท้ายเรือ  และส่วนประกอบอื่นของเรือ  ระยะเวลาที่ใช้ในการเขียนลวดลาย  ช่างต่อเรือเป็นผู้จัดหาช่างวาดลวดลายจะวาดเพียงอย่างเดียว
                ช่างต่อเรือบางคน  มีความสามารถเขียนลวดลายเรือได้เอง  จึงเขียนลวดลายด้วยตนเองจะไม่ว่าจ้างซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย  เมื่อเทียบกับจำนวนช่างส่วนใหญ่  โดยมากจะต่อเรือเพียงอย่างเดียวแล้วจึงจ้างช่างเขียนลวดลายมาตกแต่งวาดลวดลายต่างหาก  จึงนับได้ว่า  ช่างเขียนลายเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้  เรือกอและเกิดความสวยงามให้แก่เรืออีกทางหนึ่งด้วย


ช่างเขียนเรือกอและในปัจจุบันนี้  มีรายได้จากการเขียนลวดลายไม่เพียงพอกับรายจ่ายภายในครอบครัว  สำหรับช่างเขียนที่มีใจรักในงานทางด้านนี้อย่างจริงจัง  เช่น  บอราเฮง  มะมิง  ช่างเขียนชาวประเสยะวอ  ได้ใช้เวลาในตอนกลางคืน  หรือในเวลาว่างรับจ้างเขียนลวดลายบนเรือกอและจำลองเพื่อหารายได้อีกทางหนึ่งด้วย

บริเวณที่ต่อเรือกอและ

สืบเนื่องมาจากบริเวณชายฝั่งแหลมมาลายู  ทางด้านตะวันออกของอ่าวไทยนับตั้งแต่อำเภอยะหยิ่ง  อำเภอปานาเระ  อำเภอสายบุรี  ของจังหวัดปัตตานี  เรื่อยจนไปถึงอำเภอตากใบ  ของจังหวัดนราธิวาส  เป็นหาดทรายยาวเหยียด  ปราศจากที่กำบังลม  จะมีก็เฉพาะบริเวณปากน้ำ  ความแปรปรวนของอากาศจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  อีกทั้งแหล่งจับปลาก็อยู่ห่างจากฝั่งออกไปถึง  16  กิโลเมตรขึ้นไป  ชาวประมงในเขตนี้จึงจำเป็นต้องต่อเรือ  ที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศในบริเวณนี้  เรือที่เหมาะสมและดีที่สุดที่ชาวประมงใช้ก็คือ  “เรือกอและ”  นั้นเอง
                แหล่งต่อเรือกอและในจังหวัดปัตตานีได้แก่
                ตำบลปะเสยาวอ  อำเภอสายบุรี
                บ้านบางเก่า  อำเภอสายบุรี
                หมู่บ้านน้ำบ่อ  หมู่บ้านท่าน้ำ  อำเภอปานะเระ
                หมู่บ้านบูดี  ตำบลตะโล๊ะกาโปร์  อำเภอยะหริ่ง
                แหล่งต่อเรือกอและในจังหวัดนราธิวาสได้แก่
                หมู่บ้านทอน  ตำบลโคกเคียน  อำเภอเมือง  อำเภอตากใบ


ที่มา : หมู่บ้านทำเรือกอและ บ้านปะเสยะวอ จังหวัดปัตตานี http://www.sema.go.th/files/Content/Social/

หมู่บ้านทอน แหล่งทำเรือกอและ
ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกเตียน ห่างจากตัวเมืองตามเส้นทางนราธิวาส-บ้านทอน (ทางหลวง 4136) ประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิม เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งของจริงและจำลอง เรือกอและจำลองมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่น แต่คุณค่าไม่ได้อยู่แค่นั้น เพราะคนที่ทำนั้นบางคนเป็นเด็กมีตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป เด็กบางคนในหมู่บ้านจะใช้เวลาว่างมานั่งหัดทำเรือกอและ ศิลปะพื้นบ้านของพวกเขาเอง นอกจากเรือท่านอาจจะได้ความอิ่มใจ กลับไปด้วยหากได้เห็นความสนอกสนใจของพวก เขาที่มีต่องานศิลปะเช่นนี้

ที่มา : หมู่บ้านทำเรือกอและ บ้านปะเสยะวอ จังหวัดปัตตานี ีhttp://www.sadoodta.com/content/

นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์จากกระจูดและใบปาหนัน เช่นซองใส่แว่น กระเป๋า ไปจนถึงเสื่อที่มีลวดลายและสีสันสวยงามลงตัว หากรักษาดีๆ จะมีอายุการใช้งานถึง 10 ปี ระดับราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่แพงนักตั้งแต่ 30 บาท ไปจนถึงหลักร้อย และที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำบูดู และข้าวเกรียบปลาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย ตลอดแนวหาดจะเห็นแผงตากปลาเรียงรายอยู่ มีตุ่มซีเมนต์ใส่บูดูจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาชมวิธีการผลิต และซื้อของฝากได้ทุกวันแต่ปกติในบ่าย วันศุกร์ชาวบ้านมักจะไปทำละหมาดและพักผ่อน ซึ่งไม่สะดวกนักหากจะแวะมาเวลานี้

เรือกอและ เป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก ที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเป็นเรือลำใหญ่ มีความยาว 25, 22 และ 20 ศอก ลักษณะการสร้างเรือจะทำให้ส่วนหัว และท้ายเรือสูงขึ้นจากลำเรืออันเป็น เอกลักษณ์มาช้านาน ลวดลายบนลำเรือกอและเป็นการผสมผสานระหว่างลายมลายู ลายชวาและลายไทยโดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มากที่สุดเช่น ลายกนก ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายหัวพญานาค หนุมานเหิรเวหา รวมทั้งลายหัวนกในวรรณคดี เช่น “บุหรงซีงอ” หรือ สิงหปักษี (ตัวเป็นสิงห์ หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลาไว้ที่หัวเรือ)

เชื่อกันว่ามีเขี้ยวเล็บและมีฤทธิ์เดชมาก ดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่บุร่ำบุราณ งานศิลปะบนลำเรือเสมือน “วิจิตรศิลป์บนพลิ้วคลื่น” และเป็นศิลปะเพื่อชีวิตเพราะเรือกอและ มิได้อวดความอลังการของลวดลายเพียง อย่างเดียว ทว่ายังเป็นเครื่องมือในการจับปลาเลี้ยงชีพชาวประมงด้วย กล่าวกันว่าลูกแม่น้ำบางนราไม่มีเรือกอและ หาปลาก็เหมือนไม่ใส่เสื้อผ้า


คุณค่าของเรือกอและ

คุณค่า  คือลักษณะที่พึงปรารถนา  พึงพอใจและพึงประสงค์  สิ่งที่ตอบสนองความปรารถนาได้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า
  ดังนั้นคุณค่าจึงเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือให้ความปรารถนาของมนุษย์เต็มสมบูรณ์  (ชัยวัฒน์  อัตพัฒน์  2527  :  165)
  กลุ่มชนชาวประมงในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  โดยเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี  และจังหวัดนราธิวาส
เห็นคุณค่าของเรือกอและ  ก็เพราะเรือกอและที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นนั้น  สามารถตอบสนองความปรารถนาของกลุ่มชนได้  อำนวยประโยชน์ในด้านประกอบอาชีพทางการประมงสนองความต้องการของอารมณ์  ความรู้สึก  จิตใจส่งเสริม
และยกระดับของวัฒนธรรมของกลุ่มชนให้สูงขึ้น  สิ่งที่มีคุณค่าต่อกลุ่มชน  ต้องมีความผูกพันกับ
กลุ่มชนนั้นจนแยกไม้ออก
                ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า  “เรือกอและ”  เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็นต่อชีวิต  ของกลุ่มชนชาวประมงทุกคน
เพราะเรือกอและมีความผูกพันอยู่ในชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ เปรียบประดุจสายเลือดใหญ่ของกลุ่มชนนี้
                เรือกอและนอกเหนือจากการใช้ในกิจการประมงแล้ว  ยังทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การเดินเรือ
ของพ่อค้าชาวอาหรับมุสลิม  เข้ามาในดินแดนแหลมมาลายู
การใช้เรือบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ  ที่เป็นสินค้าเข้าและสินค้าออก  การยกทัพเรือไปในกิจการสงครามบริเวณแหลมมาลายู
ตลอดจนการส่งกองทัพเรือขึ้นมาช่วยกรุงศรีอยุธยา คราวเกิดสงครามกับพม่าและกัมพูชา  เป็นต้น

ที่มา : วุฒิ วัฒนสิน. 2542,8

ส่วนการนำเรือกอและมาใช้เพื่อความสนุกสนาน  รื่นเริง  ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางศาสนาพุทธ 
และศาสนาอิสลาม  คือตามปรกติประเพณีแห่พระของภาคใต้  มาจากแนวความเชื่อของศาสนาพุทธ 
ในเรื่องพระพุทธเจ้า  ตอนที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ในวันแรม  1  ค่ำเดือน  11 
เป็นวันแห่พระหรือชักพระจะมีชุมนุมเรือพระ  มีงานฉลอง  มีการแข่งขันเรือกอและอย่างสนุกสนาน 
ส่วนชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะมีวันสำคัญทางศาสนา  เช่น  วันฮารีรายอ  ซึ่งเขาจะมีการละเล่น
  มีมหรสพครึกครื้น  ตลอดทั้งมีการแข่งขันเรือกอและด้วย  (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  2529 : 89)


   

ที่มา : เรื่องจริงอยากรู้ : เรือกอและ ประเพณีแข่งเรือกอและ ภาพรูปเรือกอและ ที่นราธิวาสhttp://www.muslimthai.com/main/images/2009/nara/

จังหวัดนราธิวาสได้ฟื้นฟูการแข่งขันเรือกอและหน้าพระที่นั่ง  เพื่อชิงถ้วยพระราชทานทุกปีจะมีประชาชนล้นหลามมาเฝ้าเสด็จและชมการแข่งขันเรือกอและ  ด้วยความตื่นเต้นระทึกใจ  ทำให้เกิดผลดีในการสร้างความรักความสามัคคี  ของประชาชนในท้องถิ่น  จังหวัดใกล้เคียงตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน 
                อีกแห่งหนึ่งที่จัดให้มีการแข่งขันเรือกอและ  คือจังหวัดปัตตานี  มักจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ในงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  สถานที่ใช้ในการแข่งขันเรือกอและ  คือแม่น้ำปัตตานี  ในการจัดการแข่งขันแต่ละครั้ง  มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือกอและ  และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานีเพิ่มขึ้น  ซึ่งในการแข่งขันแต่ละครั้ง  จะมีผู้คนจำนวนมากมาให้กำลังใจแก่ผู้เข้าแข่งขัน  จนเต็มสะพานเดชานุชิต 
                เรือกอและยังมีประโยชน์ในการศึกษาความสัมพันธ์  ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้  โดยศึกษารูปแบบศิลปะที่เขาแสดงออกจากการใช้สีสันตกแต่งลวดลายเรือกอและ  เป็นเสมือนคู่ชีวิตของชาวประมง  ดังจะเห็นได้จากความรัก  และความเอาใจใส่ของชาวประมงที่มีต่อเรือกอและของตนเอง  (สว่าง  เลิศฤทธิ์  2531 : 66)


ที่มา : เรื่องจริงอยากรู้ : เรือกอและ ประเพณีแข่งเรือกอและ ภาพรูปเรือกอและ ที่
นราธิวาสhttp://www.muslimthai.com/main/images/2009/nara/

พอสรุปได้ว่า  คุณค่าของเรือกอและที่เป็นรูปธรรมที่สุด  คือการเป็นยานพาหนะสำหรับประกอบอาชีพทางน้ำของชาวประมงในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  เรือกอและสามารถบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้ชาวประมงใช้เรือกอและเพื่อติดต่อกับเพื่อนบ้าน
ใกล้เคียงอีกทั้งเพื่อนันทนาการ  คือการใช้ฝีพายเพื่อชิงชัยในด้านความเร็ว 
                เรือกอและเป็นวัฒนธรรมทางศิลปกรรมของกลุ่มชนพื้นบ้าน  ที่สามารถสะท้อนการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผสมผสานหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน
  ฉะนั้นจึงนับได้ว่า  “เรือกอและ”  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าแก่การสืบทอดต่อไปเป็นอย่างยิ่ง

องค์ประกอบเรือ

 เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้กันในเขตฝั่งทะเลจังหวัดชายแดนภาคใต้  ทำขึ้นโดยการนำแผ่นไม้กระดานยาวมาเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นลำเรือที่เรียวไปทางด้านหัวและด้านท้าย  เริ่มจากการนำไม้กระดานวางซ้อนกันจากฐานตรงกลางที่เป็นไม้กระดูกงู  ซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของเรือ  โดยวางไม้กระดานซ้ายขวาขึ้นไปเป็นคู่ ๆ  ทั้งนี้เพื่อให้กราบเรือทั้งสองข้างสมดุลกัน  การซ้อนต่อแผ่นไม้กระดานจะต้องเซื่อมต่อกันอย่างประณีตด้วยเปลือกต้นเสม็ดและตะปูเดือยไม้  ต่อไปคือการนำไม้ลักษณะโค้งคล้ายตัว  U  ที่เรียกว่า  “กง”  มาวางเรียงกันภายในลำเรือ  ตามขนาดและระยะที่เหมาะสม  ตั้งแต่ส่วนของเรือจนถึงท้ายเรือ  กงมีหน้าที่เป็นโครงกระดูกหรือโครงสร้าง  ช่วยยึดไม้กระดานที่วางซ้อนกันขึ้นไปให้ติดกับกงด้วยตะปู  ทำให้ลำเรือมีความแข็งแรงขึ้น  เมื่อลำเรือมีความสมบูรณ์แล้วจึงมีการต่อเติมส่วนหัว  ส่วนท้าย  กราบเรือ  และส่วนประกอบต่าง ๆ  ของลำเรือ  ขั้นสุดท้ายคือ  การทาสี  และเขียนลวดลายจิตรกรรมให้มีสีสันสวยงามพร้อมที่จะออกเรือเพื่อการทำประมง  ด้วยความภาคภูมิใจ  ในความส่วยสง่างามยามเรือกอและออกท่องทะเลไกล


ที่มา :  เรือกอและ   http://www.siamsouth.com/smf/index.

องค์ประกอบโดยทั่วไป  ของเรือกอและ ได้แก่ 
1.  ลำเรือ 
                ลำเรือของเรือกอและ  เป็นลำยาวที่ต่อด้วยไม้กระดานยาว  ซึ่งได้จากการเลื่อยตัดท่อนซุงประเภทไม้ตะเคียน  ไม้สยา  ไม้หลุมพอ  ที่มีขนาดความยาวที่จะต่อ  โดยเลื่อยตัดท่องไม้ให้เป็นแผ่นไม้กระดานบาง ๆ  ที่มีขนาด  1 x 6  นิ้ว  นำแผ่นไม้กระดานดังกล่าวมาวางซ้อนต่อขึ้นเป็นลำเรือความยาวของเรือแต่ละลำ  จะแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้สอย  เรือกอและที่ใช้เพื่อประกอบอาชีพทางการประมง  หรือเป็นพาหนะสำหรับรับส่งสินค้า  ลำเรือจะขยายกว้างออกตรงกลางลำเรือ  ทั้งนี้ให้เรือมีบริเวณภายในกว้าง  เพื่อประโยชน์ในการบรรทุกสินค้า  และวางอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพประมง  ส่วนเรือกอและที่ใช้ในการแข่งขันประชันฝีพายความเร็วนั้น  ลำเรือจะแคบเข้าไปทางส่วนหัวและส่วนท้ายมากกว่าเรือกอและที่ใช้ประกอบอาชีพ  (จเร  รักษ์แก้ว  2537 : 38)  และส่วนประกอบอื่นของลำเรือได้แก่
                1.1  กระดูกงู  คือ  ไม้แกนกลางของลำเรือที่มีความยาวตามขนาดของลำเรือ  เป็นที่ยึดเกาะของแผ่นไม้กระดาน  ที่ซ้อนต่อขึ้นเป็นลำเรือ  และเป็นทีสำหรับติดตั้งกงของเรือ  เวลาจะบอกถึงความยาวของเรือกอและนั้นจะต้องบอกความยาวของกระดูกงู 
                1.2  กง  คือไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับ  U  ที่วางขวางอยู่ในลำเรือ  ตามขนาดความโค้งของเรือตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ  กงจะมีขนาดความกว้างที่สุดตรงกลางลำเรือ  แล้วค่อย ๆ  เรียวเล็กแคบลงไปทางส่วนหัวและส่วนท้ายตามลำดับ  กงจึงเปรียบเสมือนโครงสร้างหรือโครงกระดูก  เพราะไม้กระดานแต่ละแผ่นที่ประกอบขึ้นเป็นลำเรือ  จะต้องถูกตอกตรึงกับกงด้วยตะปู  จึงสร้างความแข็งแรงให้กับลำเรือเป็นอย่างยิ่ง
                1.3  กราบเรือ 
                 คือส่วนประกอบของเรือที่เป็นแผ่นไม้กระดาน  ที่ต่อเติมเสริมให้ลำเรือขยายกว้างออกตรงกลางลำเรือ  แล้วเรียวแคบไปทางส่วนหัวเรือ  และท้ายเรือ  ขนาดของแผ่นไม้กระดานที่นำมาต่อเป็นกราบเรือ  จะใช้ไม้ขนาด  1 x 6  นิ้ว  ยาวตลอดทั้งลำ  ข้างละ  5 – 6  แผ่น  ถัดจากแผ่นไม้กระดานก็จะต่อเติมด้วยไม้เป็นขอบอีกจำนวนข้างละ  3  ท่อน

แสดงการตั้งกระดูกงู เพื่อต่อเป็นลำเรือ  

 
                                แสดงการติดตั้งกงในลำเรือ                                             
ที่มา : วุฒิ วัฒนสิน. 2542,15,20

  
 แสดงลักษณะการวางโครงเรือ (แซตอ) 


แสดงการปิดส่วนท้ายของเรือกอและประเภทปาตะกือระ   ที่มา : วุฒิ วัฒนสิน. 2542, 23


2.  อุปกรณ์ประจำเรือ 
                2.1  ใบเรือ  หรือลายาเป็นอุปกรณ์ประจำเรือกอและที่สำคัญในอดีต  ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เรือแล่นไปได้  เมื่อโดนกระแสลมพัดพาออกสู่ทะเลในเวลาเช้า  และแล่นกลับเข้าฝั่งในเวลาบ่ายแต่ในปัจจุบันชาวประมงเลิกใช้ใบเรือ  หันมาใช้เครื่องยนต์แทน  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการใช้เครื่องยนต์มีความสะดวกสบาย  และมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ใบเรือ
                2.2  เครื่องยนต์  ในปัจจุบันการขับเคลื่อนของเรือกอและ  จะใช้เครื่องยนต์แทนใบเรือและพาย  โดยนำเครื่องยนต์มาติดตั้งตรงบริเวณส่วนท้ายเรือ  ซึ่งมีแท่นรองรับที่ต่อยื่นออกมาจากลำเรือ 
                2.3  สมอเรือ  คือเครื่องมือสำหรับการหยุดรั้งเรือให้อยู่กับที่  โดยการทอดสมอในขณะที่นำเรือออกทำการประมงกลางทะเล  หรือขณะจอดเทียบท่าชายฝั่ง  สมอเรือมี  2  ชนิด  คือ  สมอเรือแบบเหล็ก  และสมอเรือแบบไม้  สมอเรือแบบเหล็ก  มีลักษณะเหมือนสมอเรือที่ใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน  แต่สมอเรือแบบไม้มีลักษณะรูปร่างคล้ายตัว  “ง”  ทำด้วยไม้  สมอเรือแบบไม้เวลาทอดสมอจะต้องใช้ก้อนอิฐหรือก้อนหินถ่วง  เพื่อให้เกิดน้ำหนัก
                2.4  ธง  ธงที่ใช้ในเรือกอและเป็นธงผ้าสีต่าง ๆ  บ้างเป็นรูปสามเหลี่ยม  บ้างก็เป็นรูปสี่เหลี่ยม  ขนาดกว้าง  ยาวประมาณหนึ่งศอก  โดยใช้ไม้ไผ่กลมทำเป็นด้าม  ประโยชน์ของธง  คือสามารถบอกที่หมายของการวางอวน  เป็นสัญลักษณ์บอกให้เรือลำอื่นทราบว่าบริเวณที่มีธงปักอยู่  ได้มีการวางอวนจับปลาแล้ว  เพื่อไม่ให้เรือลำอื่นมาวางอวนทับซ้อนกัน  วิธีการใช้ธง  คือ  การเสียบธงติดกับทุ่นที่ลอยน้ำได้  ผูกติดกับปลายอวนแล้วทิ้งลงในทะเลบริเวณที่จะวางอวน 
                2.5  ตูด  คือเครื่องส่งสัญญาณใช้สำหรับติดต่อกันระหว่างเรือกอและ  ตูดทำด้วยเขาควายที่มีลักษณะเขาสวยงามมีขนาดใหญ่พอสมควร  ตัดปลายแหลมของเขาควายออกประมาณ  1  นิ้ว   ตกแต่งให้สวยงาม  และมีรูทลุไปยังส่วนกลางของเขาควาย  สามารถเป่าลมผ่านไปทำให้เกิดเสียงได้คนเป่าตูดต้องเป็นคนแข็งแรง  เพราะต้องใช้ลมมากจึงจะเกิดเสียงดังปูด ๆ  ที่โหยหวนไปไกล  ตูดหรือวูดนี้  เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งสำหรับเป่าเพื่อส่งสัญญาณติดต่อกัน  นิยมใช้ในหมู่ชาวประมง  ในขณะที่เดินเรืออยู่กลางทะเล  ตูดนี้ยังมีประโยชน์เพื่อตอบสนองความเชื่อที่ว่า  เสียงโหยหวนนี้สามารถเรียกลมได้ด้วย  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ช่วยในการเดินเรือ  (สถาบันทักษิณคดีศึกษา  2529 : 1345)  อนึ่งนอกจากนี้ยังใช้ตูดเป่าส่งสัญญาณการนำปลามาขายของชาวประมง  และเพื่อให้ทราบว่ามีปลามากมาย  ให้เตรียมตัวออกมาซื้อได้


 ที่มา : เรือกอและ ราชนีแห่งแหลมมาลายู http://www.klongdigital.com/webboard3/

 2.6  อุปกรณ์สำหรับเก็บสัตว์น้ำ
                ในอดีตชาวประมงที่ใช้เรือกอและสำหรับจับสัตว์น้ำ  เมื่อจับได้แล้ว  จะเก็บไว้ใต้ท้องเรือซึ่งจะทำให้ภายในลำเรือมีกลิ่นเหม็น  และสกปรกปัจจุบันจึงนิยมใช้กล่องสี่เหลี่ยม  ขนาดโตพอเหมาะกับลำเรือ  โดยใช้แผ่นไม้กระดานตรึงตะปูเป็นกล่องสี่เหลี่ยม  แล้วฉาบด้วยแผ่นสังกะสีภายในและมีฝาปิดชิด  ก่อนออกทำการประมงจะนำน้ำแข็งละเอียดใส่ในกล่องเพื่อไว้แช่สัตว์น้ำป้องกันการเน่าเสีย
                2.7  แจว
                แจวหรือ  ดาดยง  มีลักษณะคล้ายไม้พายแต่มีขนาดความยาวมากกว่าพาย  ทำมาจากไม้สยาหรือไม้ตะเคียน  ด้านกลม  และส่วนปลายสุดของด้ามถือเป็นรูปตัว  T  เพื่อความถนัดมือในขณะจับประโยชน์ใช้สอยของแจวเรือ  คือไว้ใช้งัดเรือขณะเข้าหาฝั่ง  หรือกลับหัวเรือในขณะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเรือกอและลำหนึ่งจะมีแจวประมาณ  1 – 2  อัน

      
ที่มา : เรือกอและ http://www.marinerthai.com/sara/

2.8  ไม้พาย
                ไม้พาย  หรือปือราเยาะ  ทำมาจากไม้สยาหรือไม้ตะเคียน  มีด้ามกลมและปลายของด้ามจะเป็นรูปตัว  T  เหมือนด้ามจับของแจว  มีแผ่นพายเป็นแผ่นปลายแหลมคล้ายใบโพธิ์  ไม้พายจะทำมาจากไม้แผ่นเดียว  จะไม่มีการต่อ  ทั้งนี้เพื่อความทนทาน
                2.9  ไม้ตีน้ำ  
ไม้ตีน้ำ  หรือกูโม๊ะ  เป็นไม้ที่มีด้ามกลมส่วนปลายรูปร่างคล้ายถ้วย  ประโยชน์ของไม้ตีน้ำคือ  จะใช้ส่วนปลายที่คล้ายถ้วยตีกระแทกน้ำให้แตกกระจาย  เพื่อให้น้ำกระเพื่อม  ทำให้ฝูงปลาตกใจแล้วว่ายหนีไปทางอวนที่ดักเอาไว้  ในเรือกอและลำหนึ่งจะมีไม้ตีน้ำจำนวน  1 – 2  อัน

ประเภทของเรือกอและ

โดยพิจารณาจากลักษณะของหัวเรือกอและอาจกล่าวได้ว่า  เรือกอและมี  2  ประเทภ  ด้วยกัน  คือ  แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว  แต่ถ้าพิจารณาจากความเป็นเรือประมง  เรือกอและที่เป็นเรือประมงมี  6   ประเภท  ดังนี้คือ
                1.  กุแหละบัวตันบะรัต  มีการต่อเรือประเภทนี้ในประเทศมาลายู  ซึ่งได้แบบมาจากปัตตานี  ประเทศไทย  มีลักษณะเด่นคือ  หัวเรือและท้ายเรือเรียวจนเกือบแหลม  บรรทุกลูกเรือได้ประมาณ  5 – 7  คน
                2.  กุแหละ  หรือ  ปาราหุกุแหละมีลักษณะเด่นคือ  ค่อนข้างกว้าง  ท้องมน  และมีหัวท้ายโค้งงอนขึ้นดูสวยงามแล่นได้ไม่เร็ว  แต่คล่องตัวเป็นเรือที่ออกทะเลที่ดีมาก  มีความคล่องตัวในการลากขึ้นบนหาดหรือเข็นลงทะเล  เรือนี้บางทีเรียกว่า  กุแหละลิจัง  บรรทุกลูกเรือได้ประมาณ  5 – 10  คน  พบทั่วไปตามทะเลฝั่งตะวันออก
                3.  ดอ – กอล
                4.  กุแหละ  มะเซียม  หรือโจกอง  เป็นเรือไทย  ใช้จับสัตว์น้ำด้วยเบ็ด  บรรทุกลูกเรือได้  2-3  คน  พบจำนวนเล็กน้อยตามปากแม่น้ำกลันตันทางเหนือ
                 5. ยองกอง เป็นเรือประมงขนาดเล็ก ใช้สำหรับทำประมงชายฝั่ง มีการทาสีเพื่อความสวยงาม แต่เป็นเพียงแถบสีเรียบๆไม่มีการวาดลวดลายจิตรกรรมใดๆทั้งสิ้น
                 6. ปาตะกือระ เป็นเรือประมงที่มีวิธีการต่อ การวาดลวดลายจิตรกรรมมีส่วนตกแต่ง และอุปกรณ์ต่างๆในเรือเหมือนเรือกอและดั้งเดิม มีลักษณะที่เด่นคือมีหัวเรือเชิดสูงเหมือนเรือกอและดั้งเดิม แต่มีท้ายตัด
( ปาตะกือระ ) และใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ในขณะที่เรือกอและดั้งเดิมกำลังจะหมดความนิยมอย่างสิ้นเชิง เรือกอและปาตะกือระ จึงเป็นทายาทที่ทรงคุณค่าเช่นเรือกอและต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน  

 ที่มา : เรือกอและ ราชนีแห่งแหลมมาลายู http://www.klongdigital.com/webboard3/


ที่มา : ลำเรือแห่งเมืองนราฯ   http://www.marinerthai.com/sara/pics/kor010.jpg

ลักษณะของเรือกอและ

              เรือกอและลำแรกได้ออกแบบสร้างขึ้นด้วยฝีมือชาวประมงในเขตกำปงตะลุแบ  ซึ่งในปัจจุบันคือ  ตำบลละลุบัน  อำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  สมัยก่อนเรือกอและทุกลำเป็นเรือหัวยาวท้ายยาว  ไม่มีการเขียนลวดลายใด ๆ  ทั้งสิ้น  ต่อมามีการวาดลวดลายบนเรือกอและถูกดัดแปลงเป็นเรือหัวสั้น  สีสันพิสดาร  เรือกอและเดิมเป็นเรือบด  หรือเรือขุด  ซึ่งใช้ต้นไม้ใหญ่มาขูดเป็นลำเรือและมีฝีพาย  สามารถนำออกทำการประมงชายฝั่งได้  นานวันเข้าต้นไม้เริ่มหายาก  จึงเปลี่ยนจากขูดมาเป็นเรือต่อขึ้นด้วยไม้กระดาษแผ่นใหญ่ ๆ เพียง  5  แผ่นเท่านั้น  และอาศัยชักใบเรือแทนฝีพายสามารถนำออกทะเลในเวลาเช้า  และกลับเข้าฝั่งในเวลาบ่ายเรือกอและที่แล่นด้วยใบเรือ  จึงเป็นรูปลักษณ์ของเรือกอและที่สวยสง่าและสมบูรณ์ที่สุดเพราะส่วนประกอบต่าง ๆ  ที่ช่างต่อเรือ  และศิลปินพื้นบ้านร่วมกันประดิษฐ์ประกอบขึ้น  ล้วนแสดงถึงเอกลักษณ์ของเรือกอและที่เหมาะเจาะแก่การใช้สอย  และแสดงถึงศิลปะของคนในแถบนี้จริง ๆ  (สมศักด์  ลีภาสุรพิสุทธิ์  2524 :  19-20)



ลักษณะของเรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ตามชายฝั่งทะเลของแหลมมาลายู  ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายแบบตามรูปร่างของการวางกระดูกงู  และลักษณะของเรือและท้ายเรือ  แต่โดยทั่วไปลำเรือจะต้องแข็งแรงและค่อนข้างกว้าง  พอที่จะผจญกับลมพายุได้บ่อย ๆ  และทนต่อคลื่นที่ซัดสาดชายฝั่งอย่างรุนแรงระหว่างเรือในในทะเลหรืออยู่บนฝั่ง  ขนาดของเรือเล็กหรือใหญ่แตกต่างกันไปยาวตั้งแต่  3.50 – 13.50  เมตร  มีรูปร่างแตกต่างกันบ้าง  แต่ลักษณะเดิมยังอยู่  เช่นหัวท้ายขึ้นอย่างเดียวกัน  เพื่อให้กินน้ำตื้น  และลากเข็นง่าย  ลำของเรือจึงต่ำ  กระดูกงูไม่ลึกนัก  ส่วนใบมักเป็นรูปเหลี่ยมผืนผ้า  มีคันสอดทั้งสองข้างบนและล่าง  ซึ่งสามารถลดและม้วนใบจากคันล่างขึ้นได้  หัวเรือและท้ายเรือทำแตกต่างกันเล็กน้อย  หรือเหมือนกันเป็นรูปงอนขึ้น  ดูประหนึ่งสองหัว  ปกติใช้พายถือท้ายทางข้างเรือ  จังกูดหรือหางเสือเกือบจะไม่มีเลย  หรือถ้ามีก็ใช้น้อยลำเต็มที  การทาสีเรือเป็นที่สังเกตอย่างหนึ่ง  ซึ่งบอกที่มาของเรือประมง  ซึ่งจะเห็นว่าเรือตามชายฝั่งตะวันตกของแหลมมาลายู  มักทาสีดำหรือสีน้ำตาลแก่  อันตรงข้ามกับเรือทางฝั่งตะวันออก  ซึ่งส่วนมากทาสีขาวเหนือระดับน้ำ  แต่ทาสีแดงหรือเขียวตอนใต้ท้องเรือ  ในท้องที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส  มักจะทาสีฉูดฉาด  เช่น  แดงหรือเขียวตามใจชอบ  และมีการเขียนลวดลายอย่างสวยงาม  (สุมนัส  จิตพิทักษ์  2522 : 40-41)
                พบว่าเรือกอและในจังหวัดปัตตานี  ซึ่งมีลวดลายสวยงามนั้น  ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงแบบไป  จากซึ่งเคยมีหัวเรือและท้ายเรือเชิดสูงกลายเป็นหัวเรือสั้น  ท้ายตัดไว้สำหรับตั้งเครื่องยนต์เพื่อความคล่องตัวในด้านประโยชน์ใช้สอย  ซึ่งมีชื่อเรียกเรือที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ว่า  “ปาตะกรืฮะ”  แต่ส่วนอื่น ๆ  ของรูปแบบของเรือยังไม่เปลี่ยนแปลงเช่นยังคงมีกาบเรือสูง  สามารถเขียนลวดลายสีสันได้เหมือนเดิม  เรือกอและจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเรือประเภทอื่น ๆ มาก  เรือกอและที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 4 ขนาดดังนี้คือ
                1.  ขนาดใหญ่  ยาว  25  ศอก
                2.  ขนาดกลาง  ยาว  22  ศอก
                3.  ขนาดเล็ก  ยาว  20  ศอก
                4.  ขนาดเล็กมาก  ยาว  6  ศอก
                เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในเรือกอและ  ก็คือคุณค่าในตัวของมันเอง  ซึ่งแสดงออกมาทางรูปแบบและลวดลายที่วิจิตรพิสดารบนเรือกอและแต่ละลำ  จากผีมือของชาวบ้านที่นอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย  ในการประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตแต่เพียงอย่างเดียวแต่เกิดความคิดจิตนาการ  และเกิดแรงบันดาลใจ  ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดอย่างชาวบ้าน  ได้สร้างสรรค์ศิลปะพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดต่อไปยังชนรุ่นหลัง  ศิลปกรรมชิ้นนี้แตกต่างจากศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้น  เพื่อรับใช้ชนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นศักดินา


 ที่มา : เรือกอและ ราชนีแห่งแหลมมาลายู http://www.klongdigital.com/webboard3/

เรือกอและจัดเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดปัตตานี  และในปัจจุบันนี้รูปร่างลักษณะได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  โดยเฉพาะรูปแบบของหัวเรือและท้ายเรือ  เรือกอและแบบดั้งเดิมนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจดังนี้
                1.  ด้านรูปแบบของลำเรือ  มีลักษณะหัวเรือและท้ายเรือเชิดสูงมากคล้ายเรือไวกิ้งต่างกันที่หัวเรือไวกิ้งมีการแกะสลักเป็นรูปหัวสัตว์ประดับไว้  แต่หัวเรือกอและมีเพียงแต่การฉลุลายให้เข้ากับลวดลายส่วนอื่นเท่านั้น  กราบเรือกอและสูงมากเพราะต้องใช้แล่นในท้องทะเล  จึงทำให้บริเวณกราบเรือมีพื้นที่ว่างเหมาะสำหรับการวาดลวดลายจิตรกรรม
                2.  ด้านการตกแต่งลวดลายจิตรกรรม  มีการประดับตกแต่งด้วยการฉลุและวาดลวดลายรวมทั้งการระบายสีเพื่อความงามวิจิตรด้วยเทคนิคสีน้ำมัน  (Oil Painting)
                ส่วนประกอบที่สำคัญของเรือกอและ  ที่นิยมฉลุลายและวาดลวดลายจิตรกรรม  ได้แก่ส่วนหัวเรือ
                ใบหัวเรือ  คือส่วนที่อยู่บนสุดปลายของเรือ
                หัวเรือใหญ่  (กรือเปาะใหญ่)  คือส่วนประกอบหนึ่งของใบหัวเรือ
                ส่วนของหัวเรือ  (กรือเปาะเล็ก)  คือส่วนประกอบหนึ่งของหัวเรือใหญ่
                จาปิง  คือส่วนที่ปิดช่วงหัวเรือและท้ายเรือ
                บางา  คือส่วนที่ใช้มัดเชือกและแขวนตะเกียง  อยู่ใกล้กับจาปิง
                กราบเรือส่วนล่าง
                กราบเรือส่วนบน
                ส่วนของท้ายเรือ
                ใบท้ายเรือ  คือส่วนบนสุดตอนท้าย  คู่กับใบหัวเรือ
                ซางอ  หรือ  มูฆะ  คือส่วนประกอบของเรือมี  2  ชิ้น  อยู่ตรงกลางลำ  และตรงท้ายเรือ  มีประโยชน์คือเป็นที่วางเสาใบเรือ  แต่ในปัจจุบันใช้วางหางเสือเรือแทน
                เกาะแย  คือส่วนประกอบที่อยู่ตรงตอนท้ายของเรือ  ใช้สำหรับวางหางเสือเรือ
                กือมูดี  คือหางเสือ  ใช้คู่กับเกาะแย
                ส่วนตรงกลางลำเรือ
                กราบเรือ  คือบริเวณตอนกลางของลำเรือ
                ส่วนภายในเรือ  คือบริเวณทั้งหมดภายในลำเรือ

 

ที่มา : เรือกอและ ราชนีแห่งแหลมมาลายู http://www.klongdigital.com/webboard3/

เรือกอและ


เรือกอและ เป็นเรือประมงที่ใช้ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเป็นเรือเพื่อทำศึกสงครามในการลาดตระเวนในสมัย
กรุงศรีอยุธยาอาศัยใบในการเดินเรือ เดิมชาวพื้นเมืองปัตตานีใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและส่วนท้ายสูงขึ้น นิยมทาสีและเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของท้องถิ่น ชาวพื้นเมืองจะนำเรือเข้ามาใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ โดยนำมาจัดแข่งขันพายเรือ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านความเร็ว